นวัตกรรมเพื่อการเรียนการสอน 4CS MODEL

4CS : สี่ทักษะการเรียนรู้ที่ควรมี

ฝึกกันได้ และไม่ต้องใช้พรสวรรค์

4Cs ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4 ด้านเป็นรูปแบบการสอนที่ปลุกกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียน ซึ่งจะเป็นทักษะสำคัญของคนในศตวรรษที่ 21 ความรู้เชิงวิชาการมีความจำเป็นเพื่อเป็นฐานไปสู่ความเชี่ยวชาญเชิงลึก แต่ทักษะเชิงความคิด(สร้างสรรค์ วิเคราะห์) และการเข้าสังคมกับผู้อื่น(ทำงาน สื่อสารกับผู้อื่น) หรือ ทักษะ4Cs คือสะพานเชื่อมพวกเขากับโลก

การใช้ชีวิตจริง

 

             ในกรอบการเรียนรู้ทักษะจำเป็นเพื่อศตวรรษที่ 21 หัวข้อสำคัญที่ภาคการศึกษาทั่วโลกกำลังให้ความสนใจคือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม (Learning and Innovation Skills) โดยสะท้อนให้เห็นจากความพยายามคิดค้นหลักสูตร นโยบายให้ชั้นเรียนมีรูปแบบการสอนที่ปลุกกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตนเองของนักเรียนมากขึ้น (Self-Learning)

             โดยเปลี่ยนโฟกัสจากครูเป็นผู้ให้ข้อมูลความรู้ มาเป็นเด็กเป็นผู้ค้นหาข้อมูล คิดและเรียนรู้เองจากประสบการณ์ลงมือปฏิบัติจริง จากกรอบการเรียนรู้ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สิ่งที่โรงเรียนควรสอนควบคู่ไปกับความรู้เชิงวิชาการคือ ทักษะที่จำเป็นอย่าง การคิดสร้างสรรค์ มีวิจารณญาณ การทำงานร่วมกันและการสื่อสาร

 

4Cs หรือทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 4 ด้าน มีดังนี้

 

1. Creativity and Innovation

2. Critical Thinking and Problem Solving

3. Communication

4. Collaboration

 

ทักษะ 4Cs สำคัญอย่างไร

  ทักษะ 4Cs ไม่ใช่แนวทางสู่ความสำเร็จในบริบทการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแยกไม่ออกด้วย วารสารและบทความทางการศึกษาในช่วงหลังล้วนมีเนื้อหาปลุกกระตุ้นความสำคัญเพื่อจุดประกายการเปลี่ยนแปลงใน

แวดวงการศึกษาให้เกิดขึ้น ลำพังเพียงทักษะอ่านเขียนกับวิชาสามัญไม่เพียงพออีกต่อไป ทักษะ 4Cs กลายมาเป็นทักษะบังคับที่ต้องมีและจะมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะนี่คือยุคสมัยที่คนทำงานต้องคิดสร้างสรรค์เป็น แก้ปัญหาเองได้ สื่อสารและร่วมงานกับคนอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย

 

4Cs สอนได้ ไม่ใช่พรสวรรค์

1. Creativity and Innovation

  มักถูกเชื่อว่าเป็นพรสวรรค์ที่บางคนเท่านั้นที่มี แต่จริงๆ เป็นเรื่องที่สร้างกันได้ จากการฝึกให้แก้ปัญหา คิดเป็นระบบ หรือแค่ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน นักเรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์จะมองเห็นสิ่งที่เชื่อมต่อจากการวางแผนภาพใหญ่มาสู่รายละเอียดเล็กน้อยได้ ฝึกคิดและมองจากหลายมุมจนเคยชิน ยังก่อเกิดไอเดียที่มีทางเลือกหลากหลายและมีคุณภาพมากขึ้น ท้ายที่สุดทักษะนี้จะส่งต่อไปถึงผู้อื่นได้ โดยอาจเป็นแรงบันดาลใจ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ร่วมกันและใช้ประโยชน์จากความคิดเหล่านั้น

2. Critical thinking

  ให้โอกาสเด็กแก้ปัญหาด้วยตนเอง อาจเป็นแค่เกมแก้ปริศนา หรือจับผิดรูปภาพอย่างง่ายๆ สำหรับศตวรรษที่ 21 ข้อมูลต่างๆ ทั้งข่าวสาร หรือโฆษณาเสิร์ฟถึงมือเราเพียงแค่เลื่อนหน้าจอ ทักษะการคิดวิเคราะห์หรือวิจารณญาณจึงสำคัญมาก ต้องแยกให้ออกว่าอะไรคือความคิดเห็น อะไรคือข้อเท็จจริง สิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุนไม่ใช่การบอก แต่ต้องให้เขาเข้าถึงข้อมูลเองแล้วเปิดโอกาสให้ซักถาม แสดงความเห็น สร้างบรรยากาศให้บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่ให้เขากล้าถกเถียงโต้แย้งสิ่งที่คิดกับผู้อื่นบนพื้นฐานของเหตุและผล กระตุ้นด้วยคำถามว่า “เพราะอะไร” เพื่อให้เขาอธิบาย

3. Collaboration

  การทำงานเป็นทีมเวิร์ค เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ทักษะนี้จึงจำเป็น กิจกรรมที่จะปลูกฝังให้มีทักษะนี้ได้คือการทำงานเป็นทีม ภายใต้เป้าหมายบางอย่างร่วมกัน แต่สิ่งที่ควรนำมาใส่ใจคือ ทำอย่างไรให้เคารพความคิดต่างของผู้อื่น ในขณะที่ยังรักษาจุดยืนของตนเองเอาไว้ได้แม้ยังไม่มีใครเห็นด้วย ทำอย่างไรให้พวกเขามองเห็นตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีม ชั้นเรียน ครอบครัว ชุมชน และ สังคม ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น จึงต้องควบคู่ไปกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นด้วย

4. Communication

  การถ่ายทอดความคิดเห็นของตนให้ชัดเจนและรวดเร็ว แต่ละวันที่การสื่อสารเกินกว่าครึ่งในชีวิตประจำวัน อาศัยตัวหนังสือ

ผ่านแอพพลิเคชั่น ข้อความ หรืออีเมล ความหมายที่สื่อออกไปโดยขาดโทนเสียงกำกับอาจส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกผู้รับผิดเพี้ยนไป เช่นเดียวกับการพูดคุยต่อหน้าหรือผ่านโทรศัพท์ น้ำเสียงและกิริยาท่าทางเป็นองค์ประกอบที่มีผลต่อสารที่จะส่งไปยังผู้รับเช่นกัน เจตนาคืออะไร ผู้รับคือใคร ก็มีผลในการสื่อสาร คุณครูอาจให้นักเรียนทำแคมเปญโฆษณาสินค้า จัดกลุ่มอภิปรายในชั้นเรียนหัวข้อที่พวกเขาสนใจ โต้วาที หรือเปิดพื้นที่ให้ได้แสดงความสามารถบ่อยๆ

 

ก้าวข้ามอุปสรรคในระบบการศึกษา

  สิ่งสำคัญอันดับแรกคือพ่อแม่ คุณครูต้องมีใจที่เปิดกว้าง รวมถึง บ้าน สังคมแวดล้อม โรงเรียนต้องมีบรรยากาศให้เด็กเห็นคุณค่าและเคารพความคิดทั้งของตนเองและผู้อื่น เปิดโอกาสให้แสดงความเห็น และกล้าลองทำสิ่งที่ท้าทายใหม่ๆ ฝึกให้คุ้นเคยกับการพึ่งพาตนเอง ตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ด้วยตนเอง โดยไม่เอาความล้มเหลวผิดพลาดเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ รวมทั้งให้คำแนะนำและแรงสนับสนุนเมื่อพวกเขาต้องการ ให้มีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่น เช่น กิจกรรมกีฬา ค่ายพัฒนา อาสาสมัคร น่าจะเป็นหนทางให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะดังกล่าว จากการสำรวจความสัมพันธ์และผลกระทบระหว่างตนเอง คนรอบข้าง และเหตุผลจากแง่มุมต่างๆ ที่มีต่อสถานการณ์ ติดตัวต่อไปในอนาคต